Skip to content

หลักสูตรที่เปิดสอน

สาขาวิชานวัตกรรมทางการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตร และหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยมีเป้าหมายให้ผู้สนใจได้รับการเรียนรู้การใช้นวัตกรรมในการทำเกษตรสมัยใหม่ไปจนถึงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทุกระดับ ไม่จำกัดอายุ หรือวุฒิการศึกษา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเนื้อหาหรือวิชาที่สนใจแล้วเก็บหน่วยกิตได้ตลอดชีวิตตามระบบคลังหน่วยกิต โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่แล้วที่ต้องการยกระดับทักษะหรือองค์ความรู้ให้แน่นขึ้น (Upskill) หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนทักษะการทำงานหรือเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ให้สอดคล้องกับการทำงาน (Reskill) ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะหรือเทคโนโลยีใหม่เพื่อใช้ในการทำงาน (Newskill) โดยสาขาวิชานวัตกรรมทางการเกษตรออกแบบหลักสูตรให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองหลากหลาย ทั้งการเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง การฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตร หรือหลักสูตรระดับปริญญาตรีแบบ 4 ปีปกติ ซึ่งมีกระบวนการจัดการศึกษาให้นักศึกษาเรียนรู้ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติ ทั้งภายในห้องปฏิบัติการ ฟาร์มต้นแบบ รวมทั้งฟาร์มในสถานประกอบการจริง เพื่อเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมไปสู่การประกอบอาชีพ


หลักสูตรปริญญาตรี

สาขานวัตกรรมทางการเกษตร (120 หน่วยกิต)

หลักสูตรประกาศนียบัตร

สาขาชีวภาพสู่เกษตรยั่งยืน (18 หน่วยกิต)

หลักสูตรระยะสั้น

  • การควบคุมโรคพืชด้วยชีววิธี (1 หน่วยกิต)
  • การปลูกผักอินทรีย์ (1 หน่วยกิต)
  • การทำก้อนเชื้อเห็ดและการเปิดดอก (1 หน่วยกิต)
  • การแปรรูปเห็ดและการตลาด (1 หน่วยกิต)

รายวิชาออนไลน์ MOOCs

MOOCs (massive open online courses) เป็นรายวิชาออนไลน์แบบเปิด ที่ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเรียนรายวิชาแบบออนไลน์ได้ฟรีทาง Thai MOOC โดยไม่จำเป็นต้องสมัครเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นๆ ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา และไม่จำกัดอายุ เมื่อเรียนจบเนื้อหานั้นจะได้รับใบรับรอง ซึ่งสามารถนำมาเทียบหน่วยกิตกับเนื้อหาวิชาที่มีในหลักสูตร เก็บหน่วยกิตได้ตามระบบคลังหน่วยกิต หากหน่วยกิตครบตามที่หลักสูตรกำหนดสามารถขอรับประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรได้ โดยในปี พ.ศ. 2565 สาขาวิชานวัตกรรมทางการเกษตรได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีในการพัฒนารายวิชาเข้าสู่ Thai MOOC จำนวน 2 รายวิชา และมีแผนดำเนินการพัฒนารายวิชาเพิ่มเติมทุกปี

  • เทคนิคพื้นฐานทางจุลชีววิทยา (อยู่ระหว่างการพัฒนา)
  • การแยกนับและเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ (อยู่ระหว่างการพัฒนา)
  • เห็ดและการใช้ประโยชน์ (แผนพัฒนาปี 2566)
  • ผักอินทรีย์กับความยั่งยืน (แผนพัฒนาปี 2567)

รายวิชา MOOCs และหลักสูตรอบรมระยะสั้น มีเนื้อหาบางส่วนของรายวิชาในหลักสูตรปริญญาตรี เมื่อเรียนจบแต่ละเนื้อหาจะได้หนังสือรับรองและหน่วยกิต ซึ่งสามารถเก็บหน่วยกิตไว้ได้ตามระบบคลังหน่วยกิต หากเรียนเนื้อหาครบ 9 หน่วยกิต สามารถขอรับ “สัมฤทธิบัตร” และครบ 18 หน่วยกิต สามารถขอรับ “ประกาศนียบัตร” จากมหาวิทยาลัยได้